Custom Search
 

วัดไตรมิตรวิทยาราม เขตสัมพันธวงศ์ จ.กรุงเทพฯ



     วัดไตรมิตรวิทยาราม เดิมชื่อวัดสามจีนใต้ เนื่องจากเกิดจากชาวจีนสามคนร่วมกันสร้างขึ้น ต่อมาได้พัฒนาบูรณะปรับปรุงให้ดีขึ้นจึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม และบูรณะปฏิสังขรณ์จนสวยงามดังเช่นปัจจุบัน จากครั้งที่ทางทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.Thongteaw.com)  ได้เดินทางมาที่เยาวราช (คลิ๊กที่หน้าท่องเที่ยวกรุงเทพฯ เลือกเยาวราช) ได้เดินผ่านวัดไตรมิตรฯแห่งนี้ได้พบกับอาคารสีขาวที่มีความสวยงามน่าชม ได้เข้าไปเพื่อขอชมปรากฏว่าปิดแล้ว ครั้งที่สองก็ยังเข้าชมไม่ได้เนื่องจากมีคณะท่องเที่ยวขนาดใหญ่มา และใกล้เวลาปิดทำการจึงอดอีก คราวนี้ทางทีมงานของเราจึงตั้งใจว่าไปให้เช้าขึ้นเพื่อที่จะได้เข้าชมจริง ๆ เสียที การเดินทางของเราก็เหมือนทุกครั้งที่มาแถวนี้คือจอดรถแล้วขึ้นรถเมล์(บางครั้งก็ไม่ได้ฟรี) จึงไม่ต้องมีปัญหาเรื่องการหาที่จอดรถมากนักเนื่องจากที่จอดรถของทางวัดมีจำกัด เมื่อมาถึงทีมงานของเราเริ่มไปไหว้พระในพระอุโบสถ “พระพุทธทศพลญาณ” หรือหลวงพ่อโตวัดสามจีน ทำบุญก่อน แล้วจึงเข้าเที่ยวชมพระมณฑป


 วัดไตรมิตรวิทยาราม_2 วัดไตรมิตรวิทยาราม_9 วัดไตรมิตรวิทยาราม_17 วัดไตรมิตรวิทยาราม_5
พระมหามณฑป (สองภาพซ้ายขวา) พระพุทธทศพลญาณ
และพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (ภาพที่สองและสามจากซ้าย)

 วัดไตรมิตรวิทยาราม_19 วัดไตรมิตรวิทยาราม_16 วัดไตรมิตรวิทยาราม_20
ชั้นที่ 4 ของพระมหามณฑป ที่ประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร
(บางครั้งอาจเรียกว่า พระพุทธสุโขทัยไตรมิตร หรือ หลวงพ่อทองคำ)

 วัดไตรมิตรวิทยาราม_12 วัดไตรมิตรวิทยาราม_7 วัดไตรมิตรวิทยาราม_3 วัดไตรมิตรวิทยาราม_23
บริเวณภายในวัดไตรมิตรวิทยาราม จากพระมหามณฑป


     พระมหามณฑป หรือพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้นแบ่งเป็น  4 ชั้น โดยชั้นที่ 1 ที่ทางทีมงานเราเข้าไปเมียง ๆ มอง ๆ แอบดู มืดสนิทคล้ายห้องโถงกว้างสำหรับเก็บของ (เป็นการคาดเดาเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน) จึงเดินผ่านไป ขึ้นบันไดหลายขั้นแต่ท่านผู้สูงอายุที่เดินทางมาก็มิได้ย่อท้อแต่อย่างใด จนมาถึงชั้น 2 ทีมงานของเราก็ยังไม่ยอมแวะพัก เดินตรงต่อไปถึงชั้น  3  และชั้น  4 ดังนั้นจึงขอพาทุกท่านกระโดดข้ามมาที่ชั้นบนสุดของพระมหามณฑปองค์นี้ก่อนคือ
    พระมหามณฑปชั้นที่ 4 บนชั้นนี้เป็นที่ประดิษฐาน “พระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร” หรือ “หลวงพ่อทองคำ” หรือ “พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่เดิมเป็นพระพุทธรูปที่ถูกปูนปั้นหุ้มห่ออยู่ที่วัดพระยาไกร และได้ย้ายมาที่วัดสามจีนใต้ (วัดไตรมิตรในปัจจุบัน) เนื่องจากมีพื้นที่ให้ประดิษฐานได้ดีกว่า โดยที่ขณะเคลื่อนย้ายองค์พระพุทธรูปมีฝนตกหนักทำให้การเคลื่อนย้ายไม่สะดวก องค์พระพุทธรูปตกลงมากระแทกพื้นจนปูนที่หุ้มถูกกระเทาะออกจนเผยให้เห็นพระพุทธรูปองค์จริงที่งดงามอยู่ภายใน (ถ้าจะพิจารณาน่าจะเหมือนกันการมองคนของมนุษย์เราที่ไม่ควรมองแต่ภายนอก เพราะว่าอาจมองข้ามความมีคุณค่าที่อยู่ภายในไป )ที่มีคุณค่าทางพุทธศาสนาอย่างมากมายเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะสวยงามแบบสุโขทัย ประเมินเนื้อทองขององค์พระพุทธรูปซึ่งเป็นทองคำบริสุทธิ์ เรียกว่า ทองเนื้อเจ็ด น้ำสองขา (ตามหน่วยสมัยโบราณ) และพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (หลวงพ่อทองคำ หรือพระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร) ได้ลงหนังสือกินเนสก์บุ๊ค (2534) ว่าเป็นพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นที่น่าภาคภูมิใจของชาวพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อได้มาชมด้วยตาตนเองก็ต้องบอกว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความงดงาม อร่ามตาจริง ๆ จากนั้นทีมงานของเราจึงย้ายตัวเองลงมาที่ชั้น 3
    พระมหามณฑป ชั้นที่ 3  เป็นชั้นที่จัดนิทรรศการเกี่ยวกับหลวงพ่อทองคำ “จากพุทธศิลป์สุโขทัย สู่พุทธสมัยปัจจุบัน” แบ่งเป็นหัวข้อนิทรรศการตั้งแต่บทนำ การกำเนิดพระพุทธรูป การสร้างพระพุทธสุวรรณปฏิมากร และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลวงพ่อทองคำ ผ่านสื่อมัลติมิเดียต่าง ๆ เช่นวิดีทัศน์ แสง สี เสียง บอร์ดนิทรรศการ หุ่นจำลองต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย ซึ่งประวัติเหตุการณ์ปูนกระเทาะจนเผยให้เห็นองค์พระก็อยู่ในชั้นนี้เช่นกัน รวมถึงบอกวิธีการหล่อพระพุทธรูปเบื้องต้นที่จะกล่าวถึงต่อจากนี้และสามารถติดตามไปชมรายละเอียดเต็มรูปแบบได้ที่พระมหามณฑป การหล่อพระพุทธรูปนั้นเริ่มจาก
     

 วัดไตรมิตรวิทยาราม_31 วัดไตรมิตรวิทยาราม_36 วัดไตรมิตรวิทยาราม_37 วัดไตรมิตรวิทยาราม_32
แบบแสดงการหล่อพระพุทธสุวรรณปฏิมากร (หลวงพ่อทองคำ)

 วัดไตรมิตรวิทยาราม_41 วัดไตรมิตรวิทยาราม_51 วัดไตรมิตรวิทยาราม_54 วัดไตรมิตรวิทยาราม_42

การเททองหล่อพระพุทธรูปจากแม่พิมพ์ (ภาพซ้ายมือสุด) หลวงพ่อทองคำจำลอง (ภาพที่สอง)
และภาพถ่ายของหลวงพ่อทองคำในระยะใกล้เมื่อเริ่มกระเทาะปูนที่หล่อปิดทับองค์พระอยู่ออก
(ภาพที่สามจากซ้าย)


 วัดไตรมิตรวิทยาราม_45 วัดไตรมิตรวิทยาราม_46 วัดไตรมิตรวิทยาราม_47
ห้องแสดงนิทรรศการที่เกี่ยวกับเรื่องราวของหลวงพ่อทองคำอยู่บนพระมหามณฑปชั้นสอง

 วัดไตรมิตรวิทยาราม_56 วัดไตรมิตรวิทยาราม_57 วัดไตรมิตรวิทยาราม_58
จิตรกรรมฝาผนังอันงดงามบางส่วนภายในพระมหามณฑป


      การทำแม่พิมพ์
ของพระก่อนนำสายชนวนที่ทำจากขี้ผึ้งมาติดเข้ากับจุดต่าง ๆ ของหุ่นพระที่เข้าขี้ผึ้งแล้ว จึงตอกทอย (เหล็กขนาดเล็ก) เข้าที่หุ่นพระโดยรอบเพื่อเป็นตัวยึดไม่ให้เคลื่อน จากนั้นพอกดินนวล (ขี้วัวผสมดินอ่อน) จะทำให้รายละเอียดขององค์พระชัดเจนขึ้น เมื่อดินนวลแห้งจึงทับด้วยดินอ่อน และดินแก่ (ดินเหนียวผสมน้ำขี้วัว) ตามลำดับ เมื่อรัดโครงแน่นแล้วจึงพอกด้วยดินแก่อีกครั้งหนึ่ง ขั้นตอนถัดมาเป็นการเข้าขี้ผึ้งและตัดแบ่งหุ่นพระแกนใน โดยใช้ขี้ผึ้งเคี่ยวกับน้ำมันยางทาให้ทั่วหุ่นแกนใน และนำแผ่นขี้ผึ้งไปหุ้มหุ่นพระให้ทั่วองค์ ตกแต่งลายละเอียดขององค์พระให้สมบูรณ์ แล้วจึงนำไปตัดแบ่งเป็นส่วน ๆ เพื่อทำแม่พิมพ์จะสะดวกให้การหล่อให้ทองเป็นเนื้อเดียวกันได้ง่าย  จากนั้นเมื่อได้แม่พิมพ์เรียบร้อยแล้วจึงนำไปทำการหล่อ โดยเปิดให้มีทางไหลของขี้ผึ้งออก และมีทางเข้าของทองซึ่งเมื่อความร้อนที่สุมแม่พิมพ์ได้ที่ขี้ผึ้งจะละลายและไหลออกจากทางที่เปิดไว้ให้ทองเข้าไปแทนที่ จนสำเร็จออกมาเป็นส่วนของพระพุทธรูป

     และชั้นสุดท้ายที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมของเราจะพาทุกท่านไปคือ พระมหามณฑปชั้นที่ 2 เป็นชั้นของศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช (ข้อมูลการสร้างถนนเยาวราชทีมงานของเราก็เก็บมาจากแถวนี้) ในชั้นนี้จะเริ่มจากให้ทุกท่านมานั่งรวมกันที่บริเวณด้านหน้าเคาเตอร์ประชาสัมพันธ์ ลงทะเบียนเข้าเยี่ยมชม (ชั้นสองและชั้นสามมีให้ลงทะเบียน ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่สามารถบำรุงใส่ตู้ตามกำลังทรัพย์ของท่าน) เมื่อได้กลุ่มคนประมาณ 10-20 คน ก็จะเข้าสู่ห้องฉายวิดีทัศน์ ประกอบฉากจริงเรื่องราวเกี่ยวกับการกำเนิดชุมชนจีนในประเทศไทย ความยาวประมาณ 8 นาที แต่ได้ทราบถึงความเป็นมาอันยาวนานของชาวจีนและชาวไทยเชื้อสายจีนในปัจจุบัน เมื่อจบแล้วท่านสามารถเดินทางต่อเพื่อชมนิทรรศการหุ่นขี้ผึ้ง ประกอบแสงเสียง จำลองเหตุการณ์เดินทางจากโพ้นทะเลของชาวจีน จนมาตั้งรกรากทำมาค้าขายที่เมืองไทย ที่ดูสมจริงเป็นอย่างมาก (อย่าเผลอเข้าใจผิดไปทักเชียวนะ เพราะถ้าเขาพูดด้วยแล้วจะหนาว) สองข้างทางก่อนถึงห้องถัดไป เป็นการแสดงนิทรรศการแบบบอร์ดถึงเรื่องราวของเยาวราชวันนี้



 วัดไตรมิตรวิทยาราม_68 วัดไตรมิตรวิทยาราม_81 วัดไตรมิตรวิทยาราม_84 วัดไตรมิตรวิทยาราม_75
หุ่นขี้ผึ้งจำลองวิถีชีวิตของชาวจีนซึ่งเป็นกรรมกร ค้าขาย และศิลปินกำลังเขียนพู่กันจีนลงบนโคมไฟโบราณ

 วัดไตรมิตรวิทยาราม_89 วัดไตรมิตรวิทยาราม_59 วัดไตรมิตรวิทยาราม_90
ภาพเขียนจิตรกรรมฝาผนังและภาพยนตร์สามมิติ (ดูได้โดยไม่จำเป็นต้องสวมแว่นตาสามมิติ)
แสดงประวัติความเป็นมาของเยาวราช

วัดไตรมิตรวิทยาราม_85 วัดไตรมิตรวิทยาราม_101 วัดไตรมิตรวิทยาราม_87 วัดไตรมิตรวิทยาราม_92
หลายหลากมุมในส่วนของพิพิธภัณฑ์ชั้น 2

 วัดไตรมิตรวิทยาราม_97 วัดไตรมิตรวิทยาราม_96 วัดไตรมิตรวิทยาราม_95 วัดไตรมิตรวิทยาราม_98
หุ่นจำลองขนาดเล็กแสดงวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีนภายในห้อง "สู่ยุคทอง"


     ถัดมาเป็นห้องแสดง เส้นทางสู่ยุคทอง นิทรรศการในห้องนี้เป็นแบบจำลองชุมชนชาวจีนในพื้นที่สำเพ็ง เยาวราช ทรงวาด และพื้นที่ที่เกี่ยวข้องและท่านได้ทราบอีกด้วยว่าตึกที่สูงที่สุดในสมัยก่อนก็อยู่นี่เช่นกัน (ตรงกลาง) และโดยรอบจะเป็นหุ่นจำลองขนาดเล็ก จำลองวิถีชีวิต วัฒนธรรมขนบประเพณีของชาวจีน ทั้งเรื่องการค้าขาย การแต่งงาน ความบันเทิงต่าง ๆ ฯลฯ มากมายหลายชุด จากนั้นท่านจะได้พบกับตำนานชีวิตของเราบุคคลในยุคบุกเบิกเยาวราช และห้องแสดงนิทรรศการพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อนที่จะปิดท้ายที่ร้านของฝากของที่ระลึกให้เลือกชมกัน ทีมงานของเรากลับออกมาด้วยความอิ่มอก อิ่มใจกับบรรยากาศและการนำเสนอของนิทรรศการต่าง ๆ ที่ทำได้อย่างยอดเยี่ยมและวางแผนจะพาคนในครอบครัวมาด้วยในโอกาสหน้า

ข้อแนะนำและปฏิบัติตนในการเข้าเยี่ยมชมวัด
-แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย ควรสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว หากสวมกระโปรงไม่ควรสวมกระโปรงสั้นเหนือเข่า
-พึงสำรวมกิริยามารยาทเมื่อเข้าภายในวัด
-ไม่ทำลายทรัพย์สินของวัด
-รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยภายในวัด
-ควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของวัดอย่างเคร่งครัด เนื่องจากการเข้าเยี่ยมชมพระมหามณฑปแต่ละชั้นจะต้องถอดรองเท้า ห้ามรับประทานอาหาร และห้ามถ่ายรูปโดยใช้แฟลช เป็นต้น

การเดินทาง
วัดไตรมิตรวิทยาราม ตั้งอยู่บนเลขที่ 661 ถนนเจริญกรุง แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร รหัสไปรษณีย์ 10100
เดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดิน (MRT) ไปยังสถานีหัวลำโพง จากนั้นขึ้น รถประจำทางสาย 5, 73 หรือ 507 ไปลงยังวัดไตรมิตรวิทยาราม หากนำรถยนต์ไปเอง สามารถจอดรถได้ที่วัดไตรมิตรวิทยาราม (ที่จอดรถมีจำนวนจำกัด) ต้องการสอบถามเส้นทางรถเมล์ โทร 184 หรือคลิ๊กที่ลิ้งค์ ขสมก.
ขอขอบคุณ ข้อมูลวัดไตรมิตรวิทยาราม และการเดินทางจากเว็บไซต์วัดไตรมิตรวิทยาราม



สถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ในเขตจังหวัดกรุงเทพฯ
(กรุณาคลิ๊ก “ ชื่อสถานที่ท่องเที่ยว” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของสถานที่แต่ละแห่งโดยละเอียด)
เขตพระนคร
 วัดบวรนิเวศวิหาร , วัดพระศรีรัตนศาสดาราม , วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)
 วัดชนะสงคราม , วัดราชนัดดา , วัดสุทัศน์เทพวราราม , พระบรมมหารราชวัง
เขตธนบุรี
 วัดกัลยาณมิตร 
เขตดุสิต
 วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม
เขตสัมพันธวงศ์
 เยาวราช (ไชน่าทาวน์) 
เขตบางกอกน้อย
 วัดระฆังโฆษิตาราม
เขตบางกอกใหญ่
 วัดอรุณราชวราราม
เขตห้วยขวาง
 สยามนิรมิต


บัตรรับประทานอาหารบุฟเฟ่ต์มื้อค่ำ + ล่องเรือแม่น้ำเจ้าพระยา
(กรุณาคลิ๊ก “ชื่อเรือ์” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของเรือบุฟเฟ่ต์แต่ละแบบโดยละเอียด)


โปรแกรมทัวร์อื่น ๆ ในเขตจังหวัดกรุงเทพฯ
(กรุณาคลิ๊ก “ชื่อโปรแกรมทัวร์” เพื่อชมภาพถ่ายและข้อมูลของโปรแกรมทัวร์แต่ละแบบโดยละเอียด)




แผนผังเว็บไซต์ (Site Map)

ภาพทุกภาพภายในเว็บไซต์หน้านี้เป็นลิขสิทธิ์ของท่องเที่ยวดอทคอม (www.Thongteaw.com)
หากทำการคัดลอก หรือนำไปใช้ในกรณีใด ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต
เป็นลายลักษณ์อักษรจากทางทีมงาน จะถูกดำเนินการทางกฎหมายขั้นเด็ดขาด


Copy right © Since 2008 by Thongteaw.com - All Rights Reserved
เลขทะเบียนพาณิชย์อิเล็คโทรนิคส์ 3102201494154